การทำงาน ของ ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา

ก่อนรับราชการ

ศาสตราจารย์ศักดิ์ศรีเป็นครูตั้งแต่ยังเป็นนิสิต โดยเป็นครูสอนพิเศษวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศสและประวัติศาสตร์ให้แก่นักเรียนประจำของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยในเวลากลางคืนในฐานะที่เป็นนักเรียนทุนของโรงเรียน ในปี พ.ศ. 2496 เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจึงสมัครเข้าเป็นครูในโรงเรียนนั้น สอนวิชาดังกล่าวจนถึงปี พ.ศ. 2501 จึงได้ลาออก[2]

การรับราชการ

ศักดิ์ศรีเริ่มรับราชการในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2501 ในตำแหน่งอาจารย์ตรี แผนกวิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนวิชาภาษาไทยและภาษาบาลี ครั้นเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วก็กลับมาสอนภาษาไทยทั้งระดับปริญญาตรี โท เอก รวมทั้งสอนวิชาภาษาบาลี-สันสกฤตระดับปริญญาโทที่คณะอักษรศาสตร์จนกระทั่งเกษียนอายุราชการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2534 จากนั้นได้รับเชิญเป็นอาจารย์ผู้ชำนาญการและอาจารย์พิเศษสอนที่คณะอักษรศาสตร์ตลอดมาจนถึงแก่อนิจกรรม[2]

นอกจากงานสอนแล้ว ศาสตราจารย์ศักดิ์ศรียังเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทและเอก และเคยดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะอักษรศาสตร์ เช่น

  1. เลขานุการฝ่ายปริญญามหาบัณฑิต แผนก ภาษาตะวันออก
  2. หัวหน้าภาควิชาภาษาไทย 2 สมัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2524–2532

ส่วนตำแหน่งทางวิชาการนั้นได้ดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ตามลำดับ และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์พิเศษ คณะอักษรศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2536

ตำแหน่งพิเศษ

ศักดิ์ศรีมีตำแหน่งนอกจากตำแหน่งทางราชการ ดังนี้

  1. อาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันราชภัฏเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏนครราชสีมา สถาบันราชภัฏมหาสารคาม สถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยา สถาบันราชภัฏเพชรบูรณ์ สถาบันราชภัฏนครปฐม โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ (จังหวัดฉะเชิงเทรา) โรงเรียนโยธินบูรณะ โรงเรียนวัดสุทธิวราราม โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เป็นต้น
  2. กรรมการประเมินผลงานวิชาการ เพื่อเลื่อนขึ้นเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ และรองศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันราชภัฏทั่วประเทศ
  3. ราชบัณฑิต สาขาวรรณศิลป์ สาขาวิชาวรรณกรรมร้อยกรอง พ.ศ. 2529[3]
  4. ที่ปรึกษาการใช้ภาษาไทยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  5. กรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยของราชบัณฑิตยสถาน
  6. กรรมการทำพจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทยของราชบัณฑิตยสถาน
  7. กรรมการวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยของราชบัณฑิตยสถาน
  8. อนุกรรมการวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเขียนทับศัพท์ภาษาต่างประเทศในภาษาไทย
  9. ประธานสำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน[4]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา http://www.224books.com/product/5191/%E0%B9%80%E0%... http://portal.psclib.com/ksp/ebooks/0183.pdf http://m.tarad.com/product/4708161 http://www.arts.chula.ac.th/~east/palisanskrit/src... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/0005429... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/0012465... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2526/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2529/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2529/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2538/B/...